หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562

วัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กรสำคัญไฉน และช่วยสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนแก่องค์กรได้อย่างไร?"






พักนี้ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่เป็น Case ธุรกิจ อยู่หลายเล่ม ว่าด้วยความสำเร็จขององค์กร ร้อยทั้งร้อยเท่าที่ผมทราบองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด สัญชาติใดก็ตาม การที่องค์กรจะประสบความสำเร็จอย่างที่เรียกว่า ติดลมบนนั้น จะต้องมี วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง ที่หล่อหลอมพนักงานทุกคนให้มี DNA เดียวกันในสายเลือด วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) หรือ อาจเรียกว่า ค่านิยมขององค์กร (Corporate Core Value) สำหรับช่วงแรกเริ่มของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมา เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารยุคใหม่ควรจะปลูกฝังให้พนักงานเพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปได้อนาคต ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ครับ
  1. วัฒนธรรมองค์กรคือ DNA ความสำเร็จ ของเจ้าของ ผู้ก่อตั้งบริษัท ผู้บริหารรุ่นต่อรุ่น ที่ได้ถ่ายทอดพันธุกรรมให้แก่พนักงาน
องค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้น เจ้าของ ผู้ก่อตั้ง หรือผู้บริหารระดับสูงหลายยุค ย่อมจะทราบถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมาจนปัจจุบัน
Samsung ประสบความสำเร็จเป็นผู้เล่นระดับโลกจากการทำงานเป็นทีมที่เป็นระบบ และละเอียดรอบคอบ ซึ่งสะท้อนสไตล์การทำงานของ คุณลีบยองชอล ผู้ก่อตั้งบริษัทฯและวัฒนธรรมการทำงานแบบชาวเกาหลีที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ
Apple มาได้ไกลเป็นผู้นำในวงการ IT เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง รับฟังกันด้วยไอเดียมากกว่าระดับตำแหน่งงาน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะนิสัยและวิธีการทำงานของ Steve Jobs
หรือบริษัทไทยๆอย่าง SCG ที่อยู่มาได้ 100 ปี ก็เพราะการให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาคน  ตลอดจนความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ  ซึ่งสะท้อนสไตล์การทำงานของคุณพารณ อิศรเสนา และผู้บริหารยุคก่อนๆที่พา SCG โตแบบก้าวกระโดดและเข้มแข็ง
กุญแจแห่งความสำเร็จเหล่านี้เกิดการลองผิดลองถูกของผู้บริหารจนค้นพบว่ามันเวอร์กสำหรับองค์กรของตนเอง และผู้บริหารก็พยายามถ่ายทอดลงไปให้กับพนักงานทุกระดับโดยระยะแรกอาจสร้างเป็นลักษณะของค่านิยมองค์กร (Corporate  Core Value) จนฝังแน่นเป็นวัฒนธรรมในห้วงเวลาถัดมาอีกเป็นทศวรรษ
  1. วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งช่วยสลายความเป็นก๊ก เป็นหมู่ย่อยในองค์กร
หากบริษัทมีแนวทางและขั้นตอนในการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน พนักงานทุกคนในบริษัท ไม่ว่าจะมี background มาจากไหนก็ตาม ก็จะถูกหล่อหลอมให้มี DNA เดียวกัน
เรื่องนี้ คุณโซยองฮวัน อดีตผู้บริหาร HR ของซัมซุงได้กล่าวไว้ในหนังสือ Samsung Man ของเขาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า คนของซัมซุง ไม่ว่าจะมาจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน จังหวัดบ้านเกิดเดียวกัน หรือแม้แต่เคยเกณฑ์ทหารรุ่นเดียวกัน พนักงานเหล่านี้ก็ไม่ได้ต้องการจับกลุ่มกันโดยใช้พื้นเพเหล่านี้  พนักงาน Samsung นั้นยึดมั่นว่า ทุกคนคือชาว Samsung แม้กระทั่งงานศพของพนักงานคนหนึ่ง ก็จะพบว่ามีคนของSamsung หลั่งไหลกันมาเคารพศพกันจากทั่วทุกส่วนของประเทศ
แน่นอนครับ การจับกันเป็นก๊กเป็นเหล่าในองค์กรนั้น สร้างปัญหาในการบริหารงานกันมานักต่อนักแล้ว เมื่อผู้บริหารไม่สามารถสั่งงานทะลุทะลวงลงไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบางหน่วยงานขององค์กรที่มีวัฒนธรรมกลุ่มเฉพาะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด หน่วยงานราชการหรือบริษัทในเมืองไทยหลายหน่วยงานที่ไปไม่ถึงไหนก็เพราะเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก  บางแห่งหนักถึงขั้นหากไม่เข้าก๊วนกอล์ฟกับนาย ก็อย่าคิดที่จะได้ความดีความชอบเป็นพิเศษ
  1. วัฒนธรรมองค์กร ทำให้คนทำงานไปในทิศทางเดียวเพื่อความสำเร็จขององค์กร
ผมได้มีโอกาสไปช่วยงานปรับปรุงระบบHR ของธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ธนาคารแห่งนี้มีงานที่ต้องดูแลลูกค้าแต่กลับโดนลูกค้าบ่นตลอดว่า ขั้นตอนภายในของธนาคารล่าช้ามากโดยเฉพาะการอนุมัติสินเชื่อเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ เมื่อสอบถาม HR ก็พบว่าธนาคารมีการสร้าง Core Value  ที่เน้นเรื่องการมุ่งตอบสนองลูกค้า  แต่ปัญหาคือเรื่องนี้ไม่ได้ถูกปลูกฝังอย่างจริงจัง เป็นแค่ข้อความที่ถูกติดไว้ในห้องประชุมแค่นั้น ดังนั้น พนักงานสินเชื่อที่เป็นทัพหน้าในการดูแลลูกค้าต้องพยายามทุกวิถีทางในการตอบสนองลูกค้าเรื่องวงเงินให้ทันเวลาเพื่อไม่ให้เสียลูกค้า  แต่หน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องกลับสร้างขั้นตอนขึ้นมามากมายและซับซ้อนที่ส่งผลให้การอนุมัติวงเงินล่าช้า
สิ่งที่ผมต้องการสื่อคือว่า หากเรื่องการมุ่งเน้นลูกค้าถูกปลูกฝังไปทั่วทุกหน่วยงานในองค์กรแล้ว ทุกหน่วยงานไม่ใช่แค่ทีมขายก็ต้องเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า ปรับขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความเหมาะสมที่สุดครับ
  1. วัฒนธรรมองค์กรสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานบุคคล
การบริหารงานบุคคลยุคใหม่ต้องยึดโยงกับธุรกิจเป็นหลัก เมื่อเราทราบแล้วว่าวัฒนธรรมองค์กรถูกสร้างมาจากคีย์ความสำเร็จขององค์กร เราก็สามารถนำมาสร้างระบบการบริหารงานบุคคลได้  หลายองค์กร แปลงวัฒนธรรมองค์กร ให้เป็นชุดพฤติกรรมหลักในการทำงาน (Core Competency) ซึ่งชุดพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เราทราบว่าบริษัทต้องการพนักงานที่มีคุณสมบัติ ความสามารถหรือพฤติกรรมการทำงานแบบไหนที่เหมาะสมและส่งผลต่อความสำเร็จของบริษัท ดังนั้น วัฒนธรรมองค์กรก็สามารถนำมาแปลงเป็นหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการคัดเลือก ประเมินผลงาน  หรือวางแนวทางในการพัฒนาพนักงานได้ ดังที่สมัยนี้นิยมเรียกกันว่า Competency Based HRM ครับ ดังนั้น การบริหารงานและการพัฒนาบุคคลก็จะอยู่ในกรอบที่ส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจได้พร้อมทั้งเป็นช่องทางหลักในการส่งเสริมให้เกิดการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าองค์กรเล็กหรือใหญ่ เพื่อความสำเร็จในระยะยาว ผู้บริหารต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะถ่ายทอด DNA ความสำเร็จนี้ให้แก่พนักงานทุกระดับ ทุกรุ่นทุกสมัย ดั่งสาเหตุสำคัญที่ผมได้กล่าวมาครับ คราวหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงวิธีการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร