หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การบริหารค่าตอบแทน

องค์กรจะทำอย่างไร เพื่อให้การบริหารค่าตอบแทนมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด


ระบบการบริหารค่าจ้างหรือค่าตอบแทนนั้นจัดเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของระบบงาน HR เนื่องจากการจ้างงานนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างแรงกายและแรงใจของพนักงานและเงินที่บริษัทตอบแทนให้ ที่สำคัญเรื่องของค่าตอบแทนนั้นสามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งของบริษัทในการรักษา ดึงดูด และจูงใจพนักงาน หากบริษัทรู้จักใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพ ในบ้านเรานั้น หลายๆองค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ผู้บริหารเริ่มมีความเข้าใจถึงหน้าที่และความสำคัญของค่าตอบแทนมากขึ้น ไม่ใช่มองแค่เป็นเรื่องค่าจ้างเพื่อแลกกับแรงงานของพนักงาน หลายบริษัทถึงกับลงทุนจัดทำโครงสร้างเงินเดือน เพราะเชื่อว่าโครงสร้างเงินเดือนนี้จะเป็นตัวที่กำหนดระดับการจ่ายให้เหมาะสม ไม่ให้ค่าจ้างเป็นภาระกับบริษัทมากเกินไป อย่างไรก็ตาม การที่มีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว ไม่ได้ความว่าระบบการบริหารค่าตอบแทนนี้จะช่วยจูงใจพนักงานเพื่อสร้างผลงานให้กับองค์กรได้ในทันทีทันใด บริษัทจำเป็นต้องคำถึงระบบอื่นที่ต้องทำควบคู่กันเพื่อให้สามารถบริหารค่าตอบแทนได้เกิดประโยชน์สูงสุดดังนี้ครับ
  1. การบริหารผลงานที่เป็นธรรม
สิ่งที่พนักงานรอคอยเสมอในช่วงปลายปีก็คงหนีไม่พ้นโบนัส และการขึ้นเงินเดือน ซึ่งเป็นรางวัลของการทำงานหนักมาตลอดทั้งปี หลายบริษัทมีโครงสร้างเงินเดือนที่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ แต่การขึ้นเงินเดือนหรือการให้โบนัสนั้นอาจไม่สามารถจูงใจให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานได้ ดังนั้น เรื่องของผลงานของพนักงานแต่ละคนจึงถูกนำมาใช้เป็นตัวกำหนดระดับการขึ้นเงินเดือนหรือโบนัสสำหรับพนักงาน แต่ปัญหาก็ยังตามมาเมื่อการประเมินผลงานนั้นมีปัญหา ไม่สามารถที่จะแยกแยะผู้ที่มีผลงานเด่นกับผู้มีผลงานระดับปานกลางหรือต่ำได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น แนวคิดการบริหารผลงานสมัยใหม่จึงเข้ามาแก้ไขเพื่อให้การประเมินผลงานนั้นมีความเป็นธรรมมากขึ้นตั้งแต่การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเช่น KPIs, Competency รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมการบริหารผลงานขึ้นมาเริ่มจากการสื่อสารให้พนักงานทราบถึงเป้าหมายของตัวเขาเอง การดูแลติดตามผลงานรวมทั้งการให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อให้ผลงานของเขาสามารถบรรลุเป้าหมาย และตอบสนองเป้าหมายโดยรวมขององค์กรได้ รวมทั้งเกิดความคุ้มค่าในค่าตอบแทนที่จ่ายให้ไป และที่สำคัญ การประเมินผลงานสามารถทำได้ง่าย และเกิดความชัดเจนไม่คลุมเครือในการให้คะแนนผลงาน ซึ่งทำให้การให้รางวัลค่าตอบแทนนั้น สามารถจูงใจผู้ที่มีผลงานดีได้
  1. สร้างความก้าวหน้าในการทำงานแก่พนักงาน
ความก้าวหน้าในการทำงานนั้น คือการที่พนักงานได้รับโอกาสในการทำงานที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้น หรือสร้าง Impact ให้กับองค์กรมากขึ้น ในองค์กรขนาดใหญ่สามารถทำได้ง่ายเนื่องจากโครงสร้างองค์กรเอื้อต่อการโตขึ้นของพนักงาน ในขณะที่องค์กรเล็กๆอาจทำได้ยากกว่าแต่ไม่ได้ความว่าจะทำไม่ได้เลย โดยเฉพาะองค์กรที่มีโอกาสขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของขนาด ตลาด หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ พนักงานสามารถโตตามประสบการณ์และสามารถได้รับมอบหมายงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องโตไปตามโครงสร้างองค์กรเสมอไป
การสร้างความก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงานนั้นทำให้การบริหารค่าตอบแทนนั้นเกิดความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น หลักสำคัญคือ เมื่อเงินเดือนของพนักงานสูงขึ้น งานของพนักงานต้องยากและต้องใช้ความรับผิดชอบมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการมีโครงสร้างเงินเดือนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการวางแนวทางเพื่อพัฒนาพนักงานอยู่ตลอดเวลา พนักงานจึงสามารถได้รับการโปรโมตขึ้นในตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือได้รับมอบหมายงานที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในระดับงานที่สูงขึ้นไปเมื่อถึงเวลาก่อนที่เงินเดือนจะมาสุดปลายกระบอกหรือจุดที่เงินเดือนไม่สามารถโตได้มากกว่านี้หากรับผิดชอบงานเท่าเดิม
การบริหารค่าตอบแทนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จำเป็นต้องมีระบบ HR อื่นมารองรับดังที่ได้กล่าวมา สุดท้าย HR ก็สามารถตอบคำถามผู้บริหารได้อย่างเต็มปากได้ว่า เงินค่าตอบแทนที่ให้กับพนักงานนั้นมีความคุ้มค่า สร้างผลลัพธ์ต่อธุรกิจขององค์กรได้เป็นอย่างดีครับ