หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การประเมินผลงาน

ไขปัญหาของหัวหน้างานในการประเมินผลงานของลูกน้อง”



ผมเชื่อว่าหน้าที่ที่สำคัญของหัวหน้างานเรื่องหนึ่งตลอดจนเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีลูกน้องทุกคนนั่นก็คือการประเมินผลการทำงานของพนักงาน หัวหน้างานหลายคนใช้โอกาสนี้ในช่วงปลายปีเพื่อที่จะให้ความดีความชอบกับลูกน้องของตนซึ่งมีผลต่อการขึ้นเงินเดือน แต่หัวหน้างานหลายคนกลับไม่ชอบช่วงเวลานี้เอาซะเลยเพราะการประเมินผลงานเป็นสิ่งที่หัวหน้างานหลายคนต้องพิจารณาไม่ให้คะแนนผลงานที่ไปกระทบกระเทือนขวัญและกำลังใจของพนักงาน ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาหนึ่งของการประเมินผลงานที่หลายองค์กรประสบอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เป็นข้อจำกัดของหัวหน้างานในการประเมินลูกน้องที่พบได้ทั่วไปน่าจะพอสรุปได้ดังนี้ครับ
  1. หัวหน้างานไม่ได้อยู่กับลูกน้องตลอดเวลา
พูดถึงผลงานของพนักงานนั้น มีองค์ประกอบสองด้านนั่นคือ เรื่องของผลสำเร็จในการทำงานตามเป้าหมาย ตลอดจนพฤติกรรมและความสามารถในการทำงาน หรือที่เรียกกันว่า Competency  การทำงานในองค์กรสมัยใหม่นั้นลักษณะการทำงานจะต้องประสานงานหรือทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นหรือที่เรียกว่า Cross Function มากขึ้น พนักงานของท่านอาจจะต้องไปทำงานโครงการโดยอาจมีหัวหน้าโครงการมาจากสายงานอื่น และต้องใช้เวลากว่าครึ่งในการทำงานโครงการ หรือตัวท่านเองและลูกน้องทำงานต่างสถานที่กัน อย่างไรก็ตามในการควบคุมผลการทำงานในแง่ของผลสำเร็จตามเป้าหมายอาจจะทำได้ไม่ยาก เช่น การจัดทำรายงานส่งหัวหน้า แต่การประเมินในด้านพฤติกรรมหรือ Competency นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาของหลายองค์กรนั้น เมื่อมีการทำงานแบบ Cross Function การประเมินผลงานก็ต้องทำในแบบCross Function เช่นกัน องค์กรหลายแห่งใช้ระบบคณะกรรมการประเมินผลงานเป็นผู้บริหารของหลายสายงานในการตัดสินผลการประเมินที่สายงานประเมินมาโดยมีผู้บริหารสูงสุดในองค์กรให้การอนุมัติ เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม
  1. หัวหน้างานอาจลืมในสิ่งดีๆที่ลูกน้องทำมา
การทำงานของพนักงานนั้นเป็นกิจกรรมที่ทำตลอดปี แต่การประเมินผลงานนั้นเป็นกิจกรรมที่หัวหน้างานทำแค่ปีละครั้งหรืออย่างมากแค่สองครั้ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาครับที่หัวหน้างานอาจจะลืมผลงานดีๆที่ลูกน้องได้ทำเอาไว้ในรอบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของพฤติกรรมของพนักงานในการทำงานหรือ Competency ซึ่งอาจแสดงออกในด้านที่ดีและไม่ดีตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่ต้องคอยสังเกตและอาจจะต้องหาสมุดพกไว้ซักเล่มไว้คอยบันทึกพฤติกรรมการทำงานต่างๆของลูกน้อง เพื่อให้สามารถประเมินพฤติกรรมการทำงานได้ตรงตามความคาดหวังของตัวท่านเองและบริษัท
ข้อจำกัดดังกล่าว เป็นสิ่งปัญหาสำหรับผู้บริหารและหัวหน้างานหลายๆท่าน โดยเฉพาะท่านที่มาเป็นหัวหน้างานใหม่ๆ ปัญหาที่ว่าหากอาศัยแนวทางที่ผ่านมาก็จะทำให้ความตึงเครียดในช่วงประเมินผลงานลูกน้องในปลายปีสำหรับท่านลดลงครับ