หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

การพัฒนาพนักงาน

อบรมหลักสูตรหัวหน้างานมาก็หลายครั้ง ทำไมเป็นหัวหน้างานที่ดีไม่ได้ซักที


พนักงานเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่ลาออกเพราะหัวหน้า เป็นวลีอมตะที่บอกได้ถึงปัญหาใหญ่ในหลายองค์กรโดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการเป็นหัวหน้าได้ดี จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันมีหลักสูตรหรือที่ปรึกษาที่เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาหัวหน้าและผู้บริหารมากมาย หลายๆท่านน่าจะทราบดีอยู่ว่าแนวทางการพัฒนาทักษะการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้นมีอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม สังเกตไหมครับว่าทำไม หัวหน้างานบางคน ถูกส่งไปอบรมเรื่องนี้มาแล้วหลายต่อหลายหลักสูตร กลับมาลูกน้องก็สังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ แต่พอซักพัก หัวหน้างานก็ปฏิบัติตัวเหมือนเดิมแบบที่ลูกน้องเคยชิน ที่เป็นแบบนี้ สภาพแวดล้อมการทำงานและตัวของพนักงานเองคงต้องมีอะไรอย่างที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาทักษะการเป็นหัวหน้างาน ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ครับ
  1. งานเยอะไม่มีเวลา ปัญหานี้น่าจะเป็นปัญหาที่หัวหน้าหลายคนบ่นกันมาก ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสอนงาน การฟีดแบคพนักงาน หรือเรื่องการสื่อสารกับทีมงาน จำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึก แต่ภาระของหัวหน้างานที่มีมากกว่าการดูแลการทำงานของทีมงานนั้นทำให้หัวหน้าต้องยุ่งกับโหลดงานของตนเองที่เพิ่มมากขึ้น จนไม่มีเวลาฝึกเรื่องการสอนงาน หรือฝึกสื่อสารในการประชุมต่างๆ ปัญหานี้เป็นปัญหางูกินหาง หากหัวหน้าไม่พยายามฝึกพยายามสอนให้ลูกน้องเก่ง ลูกน้องก็ไม่สามารถแบ่งเบาภาระของตนได้ ภาระจึงตกกับหัวหน้าเสมอ ดังนั้น หัวหน้าต้องพยายามทำให้เรื่องการพัฒนาทักษะการเป็นหัวหน้างาน เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน อย่าพยายามไปโฟกัสกับงานของตน จนลืมเรื่องของการพัฒนาตนเองครับ
  2. ขาดแบบอย่างที่ดี เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างครับ ว่าการพัฒนาที่ดีนั้น การได้ Role Model ในการทำงาน รวมทั้งการรู้จักช่างสังเกตจากต้นแบบที่ดี จะช่วยให้พัฒนาตนเองได้เร็วขึ้น การเป็นหัวหน้างานที่ดีก็เช่นกันครับ หัวหน้างานระดับต้น จำเป็นต้องมีแบบอย่างที่ดีจากผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูงในการเป็นหัวหน้าที่เป็นที่ยอมรับ หลายองค์กรที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาภาวะผู้นำ ผู้บริหารนอกจากทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแล้วยังลงมาสอนผู้บริหารระดับต่างๆเรื่องของการเป็นหัวหน้างานที่ดีด้วยตนเองจากประสบการณ์จริงครับ
  3. ความเข้ากันได้ดีกับลูกน้อง สำนวนไทยที่ว่า ลางเนื้อชอบลางยานั้น สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี หัวหน้างานนั้นตั้งแต่สัมภาษณ์รับลูกน้องเข้ามาก็ย่อมดูคนที่ดูบุคลิกแล้วน่าจะทำงานเข้ากันได้ดีกับตน หรือ พนักงานเองหลายคนมักบอกว่าหัวหน้าชอบไว้ใจใช้งานเพื่อนมากกว่าตนเอง หรือแม้กระทั่งชอบพูดชอบคุยกับเพื่อนมากกว่าเรา จนรู้สึกว่าหัวหน้ามีอคติก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หัวหน้างานเองก็อาจจะสบายใจที่ใช้งานคนที่พูดคุยกันแล้วเรียกว่า “คลิก” กันมากกว่า พูดง่ายๆคือมองตาก็เข้าใจกันแล้วไม่ต้องอธิบายยกเหตุผลมากมาย หรือลูกน้องบางคนทะเลาะกันบ่อย แต่ลูกน้องบางคนกับเข้ากันได้ดี แต่ทุกอย่างอาจกลายเป็นตรงข้ามเมื่อมีการเปลี่ยนหัวหน้างาน อย่างที่สำนวนไทยว่า คนเรานั้นเข้าได้ดีกับคนๆนึง แต่อาจเข้ากันได้ไม่ดีกับอีกคนนึง การเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้นไม่ง่าย หัวหน้าจำเป็นจะต้องศึกษาสไตล์ตลอดจนอุปนิสัยของลูกน้องแต่ละคนเพื่อที่จะปรับสไตล์การบริหารงานให้เหมาะสม เพื่อลดปัญหาการเกิดอคติในทีมงานครับ
  4. ทัศนคติที่ไม่ดีต่อลูกน้อง หัวหน้างานบางคนชอบพูดจาข่มขู่ลูกน้องหรือใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ บางคนนั้นไม่เคยใช้พระคุณเลย ชมไม่เคยมี ชอบขู่ชอบจับผิดจนทำให้ลูกน้องรู้สึกกลัวและกังวล โดยเฉพาะหัวหน้างานที่พึ่งถูกรับเข้ามาใหม่มาเจอลูกน้องชุดที่อยู่มาแต่เดิม คำพูดเช่น “ถ้าไม่ทำงานนี้ ระวังจะถูกคนอื่นมาทำงานแทนนะ” นี่คือตัวอย่างทัศนคติของหัวหน้าบางคนที่อาจชอบมองลูกน้องว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ตั้งใจทำงานบ้าง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงนั้นลูกน้องเองอาจเป็นคนที่ทุ่มเทในการทำงานดีเยี่ยม แต่หัวหน้างานอาจกลัวว่าถ้าชมเยอะๆหรือใช้พระคุณมากๆลูกน้องอาจจะเหลิง จนสร้างเงื่อนไขและข้อต่อรองต่างๆกับหัวหน้า ดังนั้น การเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น ต้องรู้ว่าสถานการณ์ไหนควรจะชมหรือสถานการณ์ไหนควรจะตำหนิติเตียน
ที่กล่าวมาทั้งหมด ผมแค่อยากจะชี้ให้เห็นว่าการเป็นหัวหน้าที่ดีนั้นเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนกันอย่างอดทน ทักษะการเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะมาพร้อมประสบการณ์หากเรามีความตั้งใจจริงในการที่จะเป็นหัวหน้าที่ดี โดยอุปสรรคที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปกติที่พบได้ในชีวิตประจำวันของการทำงานซึ่งเราสามารถจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งนั้นครับ