“HR จะตอบอย่างไร เมื่อผู้บริหารถามว่า
...พนักงานทำงานคุ้มค่าจ้างแล้วหรือยัง?”
...พนักงานทำงานคุ้มค่าจ้างแล้วหรือยัง?”
เป็นที่ทราบกันอย่างที่ผมเคยกล่าวไว้เสมอๆครับว่าค่าจ้างนั้นถ้าบริหารจัดการดีๆ ก็จะเปลี่ยนสภาพจากต้นทุนกลายเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนบริษัท อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้บริหารมักพิจารณาก็คือที่มาของผลกำไรของบริษัท หรือส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับรายได้ เงินลงทุนที่ลงไปทั้งหมดนั้นช่วยสร้าง Return ให้กับบริษัทได้ตามที่คาดการณ์หรือไม่ ซึ่งในมุมของค่าจ้างหรือต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอื่นๆก็เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่า บริษัทใหญ่ๆนั้น ไม่หวงที่จะให้พนักงานเต็มที่ในแง่ของค่าจ้างและสวัสดิการ แต่คำถามที่ HR ต้องเตรียมตัวตอบก็คือ พนักงานทำงานคุ้มค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่างๆที่บริษัทมอบให้แล้วหรือยัง
แนวทางการวิเคราะห์ความคุ้มค่า
เพื่อให้การตอบคำถามนี้ สามารถตอบได้ชัดเจนเห็นภาพ ที่ปรึกษาทางการบริหารบุคคลหลายสำนักก็นำเสนอเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ บางแห่งนำแนวคิดเรื่องของ ROI (Return on Investment) มาใช้วิเคราะห์โครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับHR ทีได้ลงทุนไป หรือบางแห่งนำเสนอเกี่ยวกับ Employee Productivity ที่ให้ดูสัดส่วนระหว่างต้นทุนด้านค่าจ้างและสวัสดิการ อัตรากำลัง เทียบกับผลกำไรของบริษัท เปรียบเทียบหลายปีในห้วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในมุมมองของผมนั้น หากเราจะดูกันอย่างง่ายๆ น่าจะสามารถทำได้ดังนี้ครับ
- พิจารณาอัตราการโตของผลประกอบการของบริษัท
เงินเดือนของพนักงานโตขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 5-6% หากปีไหนเศรษฐกิจมีปัญหาก็อาจจะให้แค่ชดเชยเงินเฟ้อในอัตราที่น้อยลงไปกว่านั้น ดังนั้นลำดับแรก ลองมาดูกันว่าผลประกอบการของบริษัทโตได้ตามเป้าหรือไม่ หากพบว่าโตได้ตามเป้าก็เป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ต้องมาดูในรายละเอียด เพราะการโตในภาพรวมของบริษัทนั้น ไม่ได้หมายความผลงานในภาพรวมของพนักงานจะดีตามไปด้วย การโตนั้นอาจจะเป็นอานิสงค์จากตลาดที่ขยายตัว การทำงานของเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือต้นทุนวัตถุดิบบางอย่างที่ลดลง ที่สำคัญต้องดูระดับผลงานของพนักงานทุกคนในบริษัทประกอบ
- ผลงานรายบุคคลของพนักงาน
พิจารณาผลงานของทุกคนเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เป้าหมายส่วนตัวของพนักงานเป็นธรรมดาที่บริษัทต้องมีการตั้งให้ Challenge ขึ้นทุกปี สอดคล้องกับผลประกอบการของบริษัทที่ต้องโตขึ้น เมื่อพนักงานทำได้ถึงเป้าที่กำหนด ซึ่งแม้ว่าจะยากขึ้นทุกปี ผู้บริหารก็น่าจะพอใจกับสิ่งตอบแทนต่างๆที่มอบให้กับพนักงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา วิธีการลองเอาข้อมูลผลงานของพนักงานทุกคนมา Plot เป็นกราฟ หากได้กราฟที่เป็นเส้นโค้งปกติซึ่งหมายความว่าพนักงานส่วนมากมีผลงานอยู่ในระดับมาตรฐานตามเป้า ก็สามารถเป็นตัวพิสูจน์ถึงความคุ้มค่าในสิ่งที่ผู้บริหารลงทุนให้กับพนักงาน แต่ข้อจำกัดก็คือวิธีการนี้ บริษัทต้องมีระบบการประเมินผลงานที่ตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ ผมมองว่าการที่จะวัดให้เห็นเป็นตัวเลขให้ผู้บริหารดูเป๊ะๆคงยาก สิ่งตอบแทนต่างๆที่ให้แก่พนักงานคงไม่ได้ตอบแทนมาในรูปของระดับผลงานทั้งหมด แต่อาจจะแสดงออกให้เห็นถึงขวัญกำลังใจและทัศนคติที่ดีของพนักงานที่มีต่อองค์กร ซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืนขององค์กร
สิ่งที่ HR ควรโฟกัสเพื่อสร้างความคุ้มค่าในการบริหารสิ่งตอบแทน
สิ่งที่ HR ควรโฟกัสก็คือเรื่องของวิธีการในการที่จะทำให้พนักงานสร้างผลงาน นั่นก็คือแนวทางการพัฒนาพนักงานที่ต้องมีครบถ้วนทุกมุม ตามสัดส่วน 70:20:10 รวมทั้งการสร้างระบบบริหารผลงานที่ประสิทธิภาพที่จะช่วยให้พนักงานทุกคนบรรลุเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความมุ่งมั่นของผู้บริหารและหัวหน้างานทุกระดับ
ประเด็นที่สำคัญ ข้อมูลที่จะเป็นหลักฐานถึงความคุ้มค่าให้ผู้บริหาร ตามที่ว่ามานั้น ก็เป็นสิ่งที่ HR ควรจะวิเคราะห์ทุกปี เพื่อช่วยผู้บริหารวิเคราะห์ในแง่ความคุ้มค่าในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านคน ซึ่งก็จะเป็นการช่วยเสริมภาพลักษณ์ของ HR ให้เป็น Business Partner ได้เป็นอย่างดีครับ การทำงานของ HR ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล และต้องตอบได้ว่างาน HR นั้นเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของผลประกอบการบริษัททั้งหมดได้อย่างไร