หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

6 บทเรียนสำหรับงาน OD

6 บทเรียนสำหรับงาน OD ที่ได้จากการชมกีฬาฟุตบอล”


โดยปกติแล้วผมไม่ใช่แฟนเหนียวแน่นของทีมฟุตบอลทีมใดทีมหนึ่งที่ตามเชียร์หน้าจอทุกอาทิตย์ที่มีการแข่งขัน แต่ผมเองชอบดูฟุตบอล เพราะในเกมส์การแข่งขันนั้น เราสามารถเห็นชั้นเชิงความสามารถเฉพาะตัวของนักฟุตบอล ตลอดจนเทคนิคการเล่นเป็นทีม รวมทั้งเทคนิคการแก้ไขปัญหาของทีมในเกมส์จากสตาฟโค้ช ที่สำคัญผมมองว่ากีฬาฟุตบอลนั้นช่วยให้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับจากการบริหารคนและองค์กรครับ
1.การทำงานเป็นทีมที่ดีไม่ใช่เกิดจากการเรียนรู้แค่วันสองวันแต่ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นแรมเดือน
ฟุตบอลเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเป็นทีมครับ ทีมฟุตบอลนั้นถึงแม้จะมีผู้เล่นมากความสามารถอยู่เต็มทีม แต่หากเล่นเข้าขากันไม่ได้ก็ยากที่ทีมจะประสบความสำเร็จ ที่สำคัญการที่ทีมจะเล่นกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็ต้องอาศัยการเก็บตัวฝึกซ้อมร่วมกันเป็นเวลานานเพียงพอที่จะให้ผู้เล่นแต่ละคนเรียนรู้สไตล์การเล่น ตลอดจนอุปนิสัยใจคอของเพื่อนร่วมทีม ลองสังเกตดูนะครับ ทีมฟุตบอลทีมชาติที่ประกอบด้วยผู้เล่นระดับซุปเปอร์สตาร์มากมายแต่ฝึกซ้อมร่วมกันไม่นาน หลายครั้งสามารถแพ้ทีมชาติเล็กๆได้
การทำงานเป็นทีมในองค์กรก็เช่นกันครับ ถึงแม้ว่าจะมีการจัดคอร์สทีมบิวดิ้งกันทุกปี แต่หลังจากกลับมาทำงานซักพักก็ต่างคนต่างทำหรือเกี่ยงกันเหมือนเดิม การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องเกิดจากการปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงานในองค์กร มีการสื่อสารย้ำๆซ้ำๆ และนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงาน ที่สำคัญผู้บริหารต้องหาโอกาสให้ลูกทีมมีโอกาสได้ลองฝึกการทำงานเป็นทีม เช่น การมอบหมายงานให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำด้วยกันทั้งในหน่วยงานหรือข้ามสายงาน หรือพยายามมอบหมายฝึกให้ลูกทีมต้องสามารถทำงานได้ในหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่งานหลักของตนได้เพื่อสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานได้ในคราวจำเป็น จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่เราคาดหวังมากขึ้นครับ
2.การตั้งเป้าหมายในฤดูกาล/เกมส์เป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดแผนการทำทีมหรือการเล่นในแต่ละเกมส์
การบริหารทีมฟุตบอลนั้น ไม่ต่างอะไรจากการบริหารองค์กรเลย ซึ่งต้องมีการกำหนดเป้าหมายขององค์กรกันทุกปี ทีมฟุตบอลนั้นในแต่ละปีก็ต้องกำหนดเป้าหมายของทีมเช่น ปีนี้ต้องเป็นแชมป์ ปีนี้ต้องติด1ใน 3 เพื่อที่จะได้ไปเล่นลีกทวีป หรือปีนี้ต้องไม่ตกชั้น ฯลฯ  การกำหนดเป้าหมายของทีมประจำฤดูกาลนี้มีความสำคัญในการที่จะมาวางแผนการเล่นตลอดฤดูกาล จะแพ้ได้ไม่เกินกี่ครั้ง จะเสมอได้กี่ครั้ง ที่สำคัญเพื่อจะได้วางแผนกำลังคนในทีมว่าจะต้องซื้อผู้เล่นใหม่เข้ามาเสริมตรงไหน จะเอาใครมาเล่นตำแหน่งใดในทีม ใครจะได้เป็นตัวจริงหรือตัวสำรอง รวมทั้งกำหนดตารางและโปรแกรมการฝึกซ้อม นอกจากจะกำหนดแผนการทำทีมทั้งปีแล้ว ในแต่ละเกมส์ก็ต้องมีการตั้งเป้าหมายว่าจะชนะ หรือเอาแค่เสมอ หากชนะจะต้องให้ได้กี่ลูกในเกมส์เพื่อประโยชน์ในการแข่งนัดต่อไป เมื่อตั้งเป้าในเกมส์ก็นำมาสู่การกำหนดตัวผู้เล่นในทีมตลอดจนแทกติกให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเกมส์ ที่สำคัญระหว่างเกมส์หากทีมเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็ต้องปรับเปลี่ยนผู้เล่นหรือเทคนิคการเล่นเพื่อให้จบเกมส์ด้วยผลเป็นไปตามที่คาดหวัง
จะเห็นได้ว่าตัวอย่างที่เล่ามาก็คงไม่ต่างจากการบริหารองค์กร ที่ต้องมีการตั้งเป้ารายปี เพื่อที่จะกำหนดแผนกลยุทธ์องค์กรรวมทั้งกำลังคนให้พร้อมในการไปถึงเป้าหมายและระหว่างปีก็ต้องมีการตั้งเป้าย่อยในแต่ละไตรมาสเพื่อที่จะมีกระบวนการประเมินความสำเร็จระหว่างปีได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
3.การบรรลุเป้าหมายของผู้เล่นแต่ละคนมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้เป้าหมายของทีมประสบความสำเร็จ
เมื่อโค้ชกำหนดเป้าหมายในเกมส์แต่ละเกมส์ ตลอดจนกำหนดตัวผู้เล่นและแผนการเล่นแล้ว สิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือ ผู้เล่นแต่ละคนต้องเล่นตามแผนและหน้าที่ที่โค้ชมอบหมายให้ทำระหว่างเกมส์ กองหลังประจำตำแหน่งแนวหลังให้แน่น ไม่ดันขึ้นเติมเกมส์รุกเกินความจำเป็น กองกลางพยายามวิ่งไล่บอลในพื้นที่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ กองหน้าพยายามหาที่ว่างเพื่อหาจังหวะทำประตู หากผู้เล่นทุกคนสามารถเล่นได้ตามเป้าหมายที่โค้ชกำหนดให้สำหรับแต่ละคนแล้ว ก็จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จในเกมส์ได้ตามที่ตั้งใจ
ในการบริหารผลงาน เมื่อบริษัทตั้งเป้าหลักขององค์กรแล้ว หน่วยงานต่างๆก็ต้องกำหนดเป้าให้สอดคล้องกับองค์กร รวมถึงพนักงานเองแต่ละคนก็ต้องถูกกำหนดเป้าให้สอดคล้องกับหน่วยงาน ซึ่งหากพนักงานแต่ละคนทำหน้าที่ของตนได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สร้างผลงานของตนได้ตามที่หัวหน้าหน่วยงานคาดหวัง แน่นอนครับเป้าของหน่วยงานและองค์กรก็สามารถบรรลุผลได้เช่นกัน เหมือนนักกีฬาฟุตบอลที่มีวินัยและสามารถเล่นได้ตามเป้าหมายที่โค้ชวางไว้ให้สำหรับแต่ละคนซึ่งสามารถส่งผลต่อรูปเกมส์ของทีมที่ดีโดยรวม
4.โค้ชที่ดีต้องเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งเป็นรายคนของลูกทีม
คุณสมบัตินี้เป็นคุณสมบัติที่ดีของหัวหน้างานทุกคน โค้ชที่ดีที่สุดของลูกน้องก็คือหัวหน้างานนั่นเอง เพราะคงไม่มีใครที่จะรู้จักลูกน้องได้ดีไปกว่าหัวหน้า แต่หัวหน้าก็ต้องเรียนรู้อุปนิสัยใจคอ และความสามารถของลูกน้องแต่ละคนเพื่อที่จะสามารถมอบหมายงานหรือหาเทคนิคการสอนงานได้เหมาะสมเป็นรายบุคคล
ในการแข่งขันนั้น หากเกิดปัญหาที่ทีมเสียเปรียบคู่แข่ง โค้ชที่ดีต้องปรับแผนการเล่น หรือแม้กระทั่งต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่นเพื่อแก้เกมส์ การที่จะมอบหมายผู้เล่นลงไปเปลี่ยนรูปเกมส์ได้อย่างเป็นไปตามคาดหวังนั้น โค้ชจำเป็นที่จะต้องรู้จักความสามารถและสไตล์ของผู้เล่นแต่ละคนเป็นอย่างดีในการที่จะใช้งานผู้เล่นคนนั้น  นอกจากนี้ในการฝึกซ้อม โค้ชอาจต้องมีการติวเข้มนักฟุตบอลบางคนเป็นการเฉพาะ ด้วยวิธีการพิเศษซึ่งเหมาะกับผู้เล่นคนนั้น บางคนเล่นลูกบนพื้นได้ดี แต่เล่นลูกกลางอากาศไม่เก่งก็ต้องติวทักษะการโหม่งกันเป็นพิเศษนอกเหนือจากการแบบฝึกซ้อมธรรมดาที่ผู้เล่นคนอื่นซ้อมกัน
การสอนงานในชีวิตการทำงานก็เช่นกันครับ หัวหน้าต้องรู้จักเลือกเทคนิคในการสอนที่เหมาะสมกับลูกน้องแต่ละคน บางคนอาจจะแค่แนะนำสั้นๆ เขาก็สามารถต่อยอดคิดเองทำเองต่อได้ ได้แต่บางคนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลจ้ำจี้จ้ำไชกันเป็นพิเศษ ที่กล่าวมานี้ ผมอยากให้มองว่าเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่อแต่เป็นคุณสมบัติของโค้ชที่ดี นอกจากนี้ในการมอบหมายงานให้พนักงานก็เช่นกัน จริงอยู่ที่พนักงานแต่ละคนมี JD กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนอยู่แล้ว แต่การทำงานก็มีรายละเอียดในเนื้องานที่นอกเหนือจากJD ที่เจ้านายต้องมอบหมายให้ตรงกับความถนัดของลูกน้องแต่ละคน
5.โค้ชที่ดีไม่ใช่แค่สอนเรื่องเทคนิคการเล่นแต่ต้องสร้างแรงฮึดให้ลูกทีม
Christiano Ronaldo เล่าให้นักข่าวฟังว่าสมัยที่เขาเล่นกับแมนยู บางแมทช์ที่เขาเล่นไม่ดีหรือเล่นพลาดเนื่องจากอาจเสียสมาธิหรือคุมอารมณ์ไม่อยู่ในเกมส์ Sir Alex Ferguson เข้ามาให้กำลังใจประจำโดยบอกกับเขาว่า “You are the best in the world.”  จากเรื่องนี้ทำให้ผมคิดว่าการที่มี Ronaldo ในวันนี้อาจเป็นเพราะคำชมเล็กๆจากโค้ชที่มีให้เขาทุกวันก็เป็นได้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากRonaldo เล่นพลาดแล้วโดนด่าประจำ ในทางตรงข้ามเราก็คงไม่ได้เห็นเขาเป็นซุปเปอร์สตาร์อย่างทุกวันนี้
นักกีฬาหรือลูกน้องของเราที่มีความสามารถการทำงานอยู่แล้ว แต่บางทีเกิดความผิดพลาด ผลงานไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ปัญหานี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของโค้ชที่จะต้องค้นหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร บ่อยครั้งเกิดจากเรื่องของการขาดแรงจูงใจหรือกำลังใจในการทำงาน ซึ่งก็ต้องหาวิธีเสริมสร้างส่วนที่ขาดตรงนี้เข้าไปครับ
6.ความยั่งยืนของทีมขึ้นอยู่กับการวาง Succession Plan ในตำแหน่งสำคัญๆ
บางทีมที่ครองความยิ่งใหญ่เป็นแชมป์มาหลายปี อาจจะวูบผลงานตกลงไปได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้จัดการทีมหรือโค้ช ทีมใหญ่ในอังกฤษบางทีมผลงานเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากการที่มีการเปลี่ยนโค้ชซึ่งผู้ที่มารับหน้ามาที่คนใหม่นั้น อาจจะเป็น Successor ที่ยังไม่มีความพร้อมและมีบารมีเพียงพอในการทำทีมใหญ่ๆที่มีผู้เล่นระดับสตาร์และแฟนคลับทั่วโลก สุดท้ายผู้บริหารก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนผู้ที่มาทำหน้าที่นี้กันใหม่เพื่อไม่ให้ทีมมีผลงานแย่ลงไปเรื่อยๆ
การบริหารจัดการ Successor ในองค์กรมีความสำคัญมากครับ บริษัทจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆในองค์กร พร้อมวางแผนในการพัฒนาเขาไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องรับตำแหน่งใหม่นั้น พนักงานจะได้มีความพร้อมและความมั่นใจในการทำหน้าที่ที่สำคัญนี้
กีฬาฟุตบอลนั้นเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่งคือนอกเหนือจากดูสนุกแล้ว ยังให้แง่คิดหลายอย่างในเรื่องการบริหารจัดการองค์กรได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานเป็นทีม การตั้งเป้าหมายและแผนงาน การบริหารผลงาน ทักษะการโค้ชและการมอบหมายงาน เนื่องจากทีมฟุตบอลก็คือองค์กรที่ประกอบด้วยคนที่มีการตั้งเป้าหมายการเล่นตลอดจนมีแผนและวิธีการเล่นที่ถูกคาดหวังให้ทีมประสบความสำเร็จตามเป้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองผมมองว่าเป็นประเด็นด้านการพัฒนาองค์กรหรือ OD ที่นักบริหารทุกคนควรให้ความสนใจครับ